วัดธาตุ พระอารามหลวง

ประวัติวัดธาตุ (พระอารามหลวง)

วัดธาตุ  พระอารามหลวง ตั้งอยู่เลขที่  ๒๓๗  ถนนกลางเมือง (บ้านเมืองเก่า)  ตำบลในเมือง   อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น   สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๒ โดยพระนครศรีบริรักษ์บรมราชภักดี (เพี้ยเมืองแพน) เจ้าเมืองขอนแก่น เป็นผู้ก่อสร้างขึ้นพร้อมกับการตั้งเมืองขอนแก่น และได้สร้างพระธาตุขึ้นเป็นปูชนียสถานที่เคารพสักการะของชาวเมืองขอนแก่น จึงเรียกชื่อวัดนี้ว่า "วัดธาตุ" ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี  ชนิดสามัญ  เมื่อปี  พ.ศ.  ๒๕๒๑   มีเนื้อที่ ๑ ๒ไร่มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ          ติดต่อกับที่ดินเอกชน
ทิศตะวันออก     ติดต่อกับซอยสาธารณะและถนนรอบบึงแก่นนคร
ทิศใต้             ติดต่อกับซอยสาธารณะ
ทิศตะวันตก      ติดต่อกับถนนกลางเมืองและที่เอกชน
           พ.ศ. ๒๓๓๕ ท้าวสัก ตำแหน่ง เพี้ยเมืองแพน อยู่บ้านชีโหล่น เมืองสุวรรณภูมิ ได้ชักชวนครอบครัวได้ประมาณ ๓๓๐ ครอบครัว อพยพมาตั้งบ้านเรือนขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่ง เรียกว่า บ้านบึงบอน ต่อมา พ.ศ. ๒๓๔๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระบรมราชโองการยกฐานะให้เป็น"เมืองขอนแก่น"แต่งตั้งให้"ท้าวสัก" เป็นเจ้าเมืองขอนแก่นคนแรก มีนามว่า "พระนครศรีบริรักษ์"  เนื่องจากชนชั้นปกครองเมืองต่างๆ ในภาคอีสาน ซึ่งมีเชื้อสายเนื่องมาจากนครเวียงจันทน์ เมื่อท้าวเมืองแพน หรือพระนครศรีบริรักษ์ บรมราชภักดี ได้ตั้งเมืองขอนแก่นขึ้นที่บ้านบึงบอนแล้วก็ได้เริ่มสร้างวัดขึ้น ๔ วัด ตามแบบประเพณีโบราณเนื่องจากวัดเหนือ(วัดธาตุ) เป็นวัดสำหรับเจ้าเมืองดังกล่าว

         ๑. วัดเหนือ อยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองหรืออยู่ทางต้นน้ำสำหรับเป็นสถานที่ชุมนุมทำบุญของเจ้าเมืองปัจจุบันคือ วัดธาตุพระอารามหลวง
       
  ๒. วัดกลาง  อยู่กึ่งกลางระหว่างวัดเหนือกับวัดใต้ สำหรับเป็นที่ชุมนุมทำบุญของประชาชนทั่วไป ปัจจุบันคือ วัดกลาง
          ๓. วัดใต้
  อยู่ทางทิศใต้ของตัวเมือง หรืออยู่ทางใต้ของสายน้ำ ปัจจุบัน คือ วัดหนองแวง พระอารามหลวง
          ๔. วัดท่าแขก
  สำหรับพระภิกษุอาคันตุกะจากถิ่นอื่นมาพักและประกอบพุทธศาสนพิธี ปัจจุบันคือ วัดโพธิ์
            วัดธาตุมีเจ้าอาวาสผู้ปกครองวัดสืบต่อกันมามากกว่าศตวรรษ เจ้าอาวาสอาจจะมีตำแหน่งเป็นพระครูหลักคำ พระครูสังฆราช พระครูด้าน พระครูฝ่าย พระครูยอดแก้วหรือพระครูลูกแก้ว ตามศักดิ์ที่ใช้เรียกตำแหน่งสมณศักดิ์ในสมัยนั้นมาบ้างแล้วหลายรูป   แต่ไม่สามารถจะหาหลักฐานมายืนยันได้ วัดธาตุแม้จะมีปูชนียสถานคือพระธาตุเจดีย์อยู่ก็จริง แต่พระเจดีย์หลายองค์ ก็ชำรุดทรุดโทรมพังทลายไปเกือบหมดสิ้น จนไม่สามารถจะสังเกตได้ว่าองค์ไหนเป็นพระธาตุดั้งเดิม ซึ่งเจ้าเพี้ยเมืองแพนได้สร้างขึ้น หลักฐานใด ๆ ก็ไม่มีปรากฏ
          เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ คณะกรรมการวัดเห็นว่าพระธาตุมีรวมกันหลายองค์ ทุกองค์ล้วนมีลักษณะทรุดโทรม จนไม่สามารถทราบได้ว่าองค์ไหนเป็นพระธาตุองค์เดิม จึงได้ตัดสินใจให้นายช่างออกแบบสร้างพระธาตุองค์ใหม่ขึ้นครอบองค์เดิมไว้ ทั้งหมด โดยสร้างให้ใหญ่และสูงกว่าเดิม      เพื่อรักษาศรัทธาปสาทะและความศักดิ์สิทธิ์ไว้ และให้ชื่อว่าเจดีย์พระธาตุนครเดิม ตามที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้  มีส่วนสูงวัดจากยอดสุดลงมา ๔๕ เมตร
          พ.ศ. ๒๔๓๐-๒๔๗๓ พระครูพุทธา   พุทธฺสโร เจ้าอาวาส การปกครองในยุคนี้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีพระภิกษุ สามเณรมาก มีการศึกษาพระธรรมวินัย เรียกในสมัยนั้นว่า เรียนสนธิ เรียนนาม เรียนมูลกัจจายน์ และมีการส่งเสริมการเทศน์เสียงลำมหาชาติทำนองพื้นเมือง พระครูพุทธา เจ้าอาวาส เป็นผู้ทรงความรู้ความสามารถในการเทศน์ทำนองเสียงลำมหาชาติพื้นเมืองชั้นหนึ่ง ถึงมรณภาพในปี ๒๔๗๓
          พ.ศ. ๒๔๓๐ - ๒๔๘๓ พระครูบับ ปญฺญาวโร ศิษย์ของพระครูพุทธา ได้เป็นเจ้าอาวาส ต่อมาท่านได้ปกครองวัดเจริญรอยตามพระครูบาอาจารย์ทุกอย่าง พระสงฆ์ สามเณร และประชาชนเคารพนับถือมาก เช่น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีศรัทธาสร้างกุฎีถวายพระครูบับสำหรับเป็นที่อยู่ของเจ้าอาวาสในสมัยนั้น (ขณะนี้รื้อไปแล้ว) พระครูบับ ปญฺญาวโร เป็นเจ้าอาวาสอยู่ประมาณ ๑๐ ปี  ได้ลาสิกขาไปเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๓
          พ.ศ. ๒๔๘๓ - ๒๔๙๐
 พระครูวิเวกธรรมปฏิบัติ (พั้ว  พุทฺธโชโต) เจ้าคณะแขวงพระลับ เจ้าอาวาสวัดท่าราชไชยศรี ได้รับความเห็นชอบจากทางคณะสงฆ์และทายก-ทายิกา ให้ย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดธาตุ ท่านได้ปรับปรุงการปกครอง การศึกษาการเผยแผ่ และการสาธารณูปการโดยกว้างขวาง ซึ่งนับเป็นรากฐานของวัดธาตุสืบมาจนบัดนี้ ทั้งนี้เพราะท่านเป็นทั้งนักปกครอง นักศึกษา นักเทศน์ และนักก่อสร้าง
          พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๕๕๒  พระธรรมวิสุทธาจารย์ (เหล่ว สุมโน ป.ธ. ๕, พธ.ด.)  เป็นเจ้าอาวาส  ได้มีการปรับปรุง  พัฒนาทั้งด้านการศึกษา  การปกครอง  การเผยแผ่ และสาธารณูปการเต็มรูปแบบ  ซึ่งในอดีตนั้นวัดธาตุมีการจัดการศึกษาเล่าเรียนตามแบบพื้นเมืองโบราณ ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดสนใจใฝ่ศึกษาจะต้องเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนที่กรุงเท ฯ จนกระทั่งสมัยพระครูวิเวกธรรมปฏิบัติ (พั้ว เป็นเจ้าอาวาส  ได้วางรากฐานการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกนักธรรม-บาลีขึ้น โดยได้สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมและจัดหาครูสอนพระปริยัติธรรมจากวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ ๒ รูป คือ พระมหาเหล่ว   สุมโน ป.ธ.๕ (พระธรรมวิสุทธาจารย์) และพระมหาพราม  จิตฺตเสโน ป.ธ.๖ มาเป็นครูสอนประจำสำนักรุ่นแรก  ต่อมาเมื่อถึงสมัยพระธรรมวิสุทธาจารย์ (เหล่ว สุมโน)  เป็นเจ้าอาวาส ได้ส่งเสริมและปรับปรุงพัฒนาสำนักเรียนให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยแต่ละปีมีพระภิกษุสามเณรเข้าศึกษาและสอบเปรียญธรรมได้เป็นจำนวนมาก มีครูสอนพระปริยัติธรรมที่มีความรู้ความสามารถทำการสอนประจำในอดีต ได้แก่
๑. พระมหาคำพันธ์   โกวิโท ป.ธ.๗ (พระเทพมงคลเมธี  อดีตเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น)
๒. พระมหาทองสา  วรลาโภ ป.ธ.๘ (พระเทพกิตติรังษี ป.ธ. ๘, พธ.ด. เจ้าอาวาส-เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น)
๓. พระมหาบัวผัน   ปคุณธมฺโม ป.ธ.๘ (พระกิตติญาณโสภณ  อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีนวล-รจจ.ขอนแก่น)
๔. พระมหานิยม    อุตฺตโม ป.ธ.๗
๕. พระครูประสาธน์ปริยัติกิจ  (ปาว  เตชธมฺโม ป.ธ. ๔)
๖. พระครูอรรถสารเมธี (จำนง  อติเมโธ ป.ธ. ๔, เจ้าอาวาสวัดวุฒาราม, เจ้าคณะอำเภอเมืองขอนแก่น)
๗. พระครูศรีวิสุทธิวัฒน์ (จำเริญ ปสุโต ป.ธ.๖, กศ.ม., ผอ.ร.ร.วิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยารูปปัจจุบัน)
พ.ศ. ๒๕๕๓ –ปัจจุบัน  พระเทพกิตติรังษี  (ทองสา  วรภาโภ  ป.ธ. ๘, พธ.ด.)  เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันและตำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น ได้ดำเนินการพัฒนาวัดธาตุ พระอารามหลวงอย่างที่บูรพาจารย์เคยปฏิบัติมา โดยเฉพาะวัดธาตุถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของการศึกษาของคณะสงฆ์จังหวัด จึงมีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาเพื่อศึกษาและปฏิบัติศาสนกิจปีละประมาณ  ๑๕๐ รูป ดังนั้น  ท่านจึงได้แบ่งการปกครองออกเป็น ๗ คณะ ตามหมายเลขประจำกฏิ หรือกลุ่มกุฏิ โดยมีเจ้าคณะแต่ละรูปทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส ดูแลปกครองและสงเคราะห์พระภิกษุสามเณรภายในคณะ ให้ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ระเบียบกติกา ของวัด และให้ได้รับความสัปปายะตามสมควรแก่ฐานะ

การพัฒนาการศึกษาภายในวัด
พ.ศ.๒๔๘๖
 จัดตั้งสำนักเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา เปิดสอนแผนกนักธรรม-บาลี
พ.ศ.๒๕๒๙ โรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา ได้ขอเปิดขยายโอกาสทางการศึกษาขึ้น โดยขอเป็นสาขาของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ กรุงเทพ ฯ ในนาม “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์วิทยาเขตขอนแก่น”เปิดสอนในระดับอุดมศึกษาคณะพุทธศาสตร์
พ.ศ.๒๕๓๑ เปิดศูนย์การศึกษาโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เพื่อให้โอกาสแก่เยาวชนที่สนใจได้ศึกษาพุทธประวัติและหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
พ.ศ.๒๕๓๔ โรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา  เปิดสอนแผนกสามัญศึกษา
พ.ศ.๒๕๓๖ มหาจุฬาฯ เปิดสอน ๒ คณะ คือ คณะครุศาสตร์ และรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์  ปัจจุบันได้เปิดสอนเพิ่มอีก ๒ คณะ คือ คณะมนุษยศาสตร์  คณะพุทธศาสตร์ และเปิดสอนหลักสูตรมหาบัณฑิต ๔ สาขา คือ สาขาพระพุทธศาสนา สาขาปรัชญา  สาขาบริหารศึกษา  สาขารัฐประศาสนศาสตร์

ทำเนียบเจ้าอาวาส
รูปที่ ๑ พระครูพทุธา พุทฺธสโร พ.ศ.๒๔๓๐-พ.ศ.๒๔๗๓
รูปที่ ๒ พระบับ ปญฺญาวโร พ.ศ.๒๔๗๓-พ.ศ.๒๔๘๔
รูปที่ ๓ พระครูวิเวกธรรมปฏิบัติ พ.ศ.๒๔๘๔-พ.ศ.๒๔๙๐
รูปที่ ๔ พระธรรมวิสุทธาจารย์ (เหล่ว สุมโน ป.ธ.๕) พ.ศ.๒๔๙๐-พ.ศ.๒๕๔๒
รูปที่ ๕ พระเทพกิตติรังษี (ทองสา วรลาโภ ป.ธ.๔) พ.ศ.๒๕๔๒-พ.ศ.๒๕๖๑
รูปที่ ๖ พระโสภณพัฒนบัณฑิต พ.ศ.๒๕๖๑  - ปัจจุบัน

 ที่มาข้อมูล https://sites.google.com/site/wadthatkhonkaen/background


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image

image
image
image
image
image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 792,259